การโปรยทาน บุญกุศลครั้งใหญ่จากการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ไหนใครเคยไปเก็บทานตามงานบวชบ้างยกมือขึ้น ว้าว ว้าว ว้าว เยอะมากจีงเลยย ใครไม่เคยไปเก็บทานตามงานบวชหรือไม่ก็งานศพเนี่ย!!! ถือว่าคนนั้นเอาท์มาก ๆ เลยนะ เนี่ย!!! ต้องลองดูสักครั้ง แล้วคุณจะรู้ว่าการสู้รบกับคนเป็นสิบเพื่อเหรียญหนึ่งอันนั้นเป็นเช่นไร เอาล่ะ โม้เยอะไปละ วันนี้หนูษาไม่ได้จะมาอวดว่าตัวเองเคยเก็บทานหร้อกก ไม่เลยจีงจี๊งงง แต่ความตั้งใจจริงก็คือ มาคลายข้อสงสัยให้ทุกคน รวมถึงตัวเองด้วยว่า.. ทำไมถึงต้องมี การโปรยทาน นั่นเอง
ความหมายของ การโปรยทาน
การโปรยทาน หมายถึง การสละทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อเป็นทานแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ตามพุทธประวัติ… การโปรยทานเริ่มมีครั้งแรก เมื่อตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะสละทรัพย์สมบัติเพื่อออกผนวช ไม่ปรารถนาที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา แต่พระองค์ประสงค์จะผนวช เพื่อแสวงหาความจริง แสวงหาหนทางดับทุกข์ กระทั่งสำเร็จเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพุทธศาสนิกชนให้ความเคารพและถวายตนเป็นพุทธมามะกะเป็นจำนวนมาก
บังคับไหมว่าบวชนาคต้องโปรยทาน ??? …ตามพระวินัยสงฆ์ไม่มีการบัญญัติหรือบังคับให้นาคทุกรูปต้องโปรยทาน จะทำไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความศรัทธา ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าไปงวนบวชใครแล้วเขาไม่มีการโปรยทานนะ!!
ส่วน การทำเหรียญโปรยทาน นั้นจะนำเหรียญมาห่อกระดาษสีต่าง ๆ เพื่อสังเกตได้ชัดเจน ส่วนใหญ่จะใช้กระดาษแก้ว กระดาษสา ส่วนสีของกระดาษก็ขึ้นอยู่กับงานว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล แต่จะไม่นำเหรียญที่ไม่ห่อมาร่วมโปรยทาน เพราะกลัวว่า..ระหว่างที่โปรยทานหาเหรียญไม่เจอ และเหรียญโปรยทานที่เก็บได้นั้นจะปนกับเหรียญอื่น กลายเป็นว่าแทนที่จะได้เอาเหรียญไปเก็บไว้บูชาหรือทำบุญ กลับเอาไปใช้ซื้อขนมกินโดยไม่รู้ตัวซะงั้น
การโปรยทานในงานบวช
การโปรยทานในงานบวช หมายถึง การแสดงให้เห็นว่าต่อจากนี้ไป นาคจะได้สละสมบัติทุกอย่างที่ตนเองหามาได้ เพื่อดำเนินชีวิตตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งสละทรัพน์สมบัติส่วนตัวเพื่อเป็นทานกับผู้อื่น มิปรารถนาต่อสมบัติมากมายในทางโลก มุ่งหวังเพียงทางธรรม นอกจากนี้แล้วการโปรยทานยังเป็นการสอนคนให้รู้จักเสียสละโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ด้วย
นาคจะโปรยทานตอนไหน
เมื่อนาคเดินรอบโบสถ์พร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขารที่ใช้ในการบวช และของที่ถวายพระส่วนเครื่องอัฏฐบริขารและของถวายพระครบ 3 รอบแล้ว ก็จะนำไปตั้งในโบสถ์ก่อนการวันทาสีมา นาคจุดธูปเทียนที่เสมาหน้าโบสถ์แล้วนั่งคุกเข้าประนมมือกล่าวคำวันทาสา แล้วกราบ ปักดอกไม้ธูปเทียนเส็จ นาคจะมาที่หน้าโบสถ์เพื่อโปรยทาน เสร็จแล้วจะมีการจูงนาคเข้าโบสถ์โดยมารดาจูงมือข้างซ้าย บิดาจูงมือข้างขวา พวกญาติคอยจับชายผ้าตามส่งข้างหลัง เมื่อพ้นประตูแล้วให้เดินตรงไปที่พระประธานประกอบพิธีต่อไป
เหรียญโปรยทานในงานบวช การโปรยทาน
เหรียญที่ได้จากการโปรยทานในงานบวช คนโบราณเชื่อว่า… เป็นเงินที่บริสุทธิ์ สะอาด และเป็นการโปรยผลบุญที่บวชให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน คนจึงไม่นิยมนำไปจับจ่ายใช้สอย แต่จะเอาไปเก็บไว้ในบ้าน ร้านค้า หรือติดกระเป๋าสตางค์เอาไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกโชคลาภ ให้เงินทองไหลมาเทมา ทำมาค้าขายอะไรก็ดี
การโปรทานในงานมงคลสมรส
การโปรยทานในงานมงคลสมรส หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า ซองมงคล ใช้เพื่อเป็นค่าผ่านทางเข้าไปหาเจ้าสาว ในกรณีที่ฝ่ายเจ้าสาวมีประตูกั้นหรือที่เราได้คุ้นชื่อประตู ในเพลงแห่ขันหมากที่เขาร้องว่าประตูเงินประตูท้อง น้องอยู่ทางไหน (เข็มขัด โซ่ ส่วนใหญ่จะเป็นสีเงินหรือทอง) ขวางทางขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าวไว้ ซึ่งถ้าหากไม่มอบของกำนัลให้ก็จะไม่ยอมให้ผ่านเข้าไปได้ และคนที่ทำหน้าที่มอบซองมงคลก็อาจจะเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวหรือตัวเจ้าบ่าวเอง
การโปรยทานในงานศพ
ส่วนใหญ่แล้วเหรียญโปรยทานในงานศพจะใช้ริบบิ้นสีขาวหรือสีดำ ไม่ใช่สีสันสดใสเหมือนกับงานบวช วัตถุประสงค์ของการโปรยทานในงานศพนั้น ก็เพื่อซื้อทางให้แก่ดวงวิญญาณให้สามารถเดินทางกลับบ้านไปได้โดยไม่ติดขัด เพราะคนโบราณเชื่อว่า.. หลังจากทำพิธีเผาศพ ดวงวิญญาณจะเร่ร่อนไม่มีที่ไป จึงได้มีการขอให้เจ้าที่เจ้าทางช่วยพาวิญญาณกลับมาอยู่ที่บ้านนั่นเอง
เหรียญโปรยทานในงานศพ
ทว่าเหรียญที่ได้จากการโปรยทานในงานศพนั้นจะต่างจากเหรียญงานบวชโดยสิ้นเชิง กล่าวคือนอกจากจะไม่แนะนำให้นำไปใช้แล้ว ก็ควรนำไปทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อที่เขาจะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลที่เราทำไปให้ แล้วจะได้ไปเกิดในพบภูมิที่ดีนั่นเอง
อานิสงค์ของการ โปรยทาน
การโปรยทาน ถือเป็นการทำทานรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการทำทาน หมายถึง การให้ด้วยใจ และให้ด้วยพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่กับให้ แน่นอนว่าผลบุญเหล่านั้นจะดลบันดาลให้ผู้มีจิตอันเป็นกุศลพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ผลบุญหนุนนำให้ชีวิตมีแต่ความสุขกายสุขใจ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง ดังนั้น เงินโปรยทาน ถือเป็นเงินบริสุทธิ์ ถือเป็นของมงคลที่เทวดานางฟ้าโปรยลงมาให้ เอาติดไว้บ้านก็ดี ติดรถไว้ก้อดี ค้าขายก้อดี โชคดีมีชัย เฮง ๆและรวยๆ
สรุป
การโปรยทานนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งที่พระพุทธเจ้าออกผนวช ทรงสละราชสมบัติส่วนตนทิ้งเสีย เพื่อแสวงหาหนทาดับทุกข์ จึงได้มีการยึดหลักปฏิบัตินั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการโปรยทานในแต่ละงานนั้นก็จะมีวัตถุประสงค์และความหมายที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นงานบวช ก็เพื่อการแสดงให้เห็นว่าต่อจากนี้ไป นาคจะได้สละสมบัติ เพื่อเจริญรอยตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า งานมงคลสมรส เพื่อเป็นค่าผ่านทางไปหาเจ้าสาว เราเรียกทานนั้นว่าซองมงคล ส่วนการโปรยทานในงานศพนั้น เพื่อเป็นการซื้อทางให้กับดวงวิญญาณนั่นเอง อย่างไรก็ตามถือว่าการโปรยทาน ก็คือการทำทานรูปแบบหนึ่ง ให้อานุสงค์และผลบุญยิ่งใหญ่ไม่แพ้การทำทานรูปแบบอื่น ๆ เลย